Pages

Wednesday, June 10, 2020

ม้าตายเพราะกาฬโรคแอฟริกา ไทยคุมการระบาดได้แล้วจริงหรือ - บีบีซีไทย

supokia.blogspot.com

จากประสบการณ์การทำงานในฟาร์มม้ามา 13 ปี นี่เป็นครั้งแรกที่ศรีไพร แก้วบุตรดี ผู้จัดการฟาร์มหมอปอ โรงเรียนสอนขี่ม้าและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ตั้งอยู่ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ต้องเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นกับม้าในฟาร์มที่เธอดูแล

เหตุเกิดขึ้นครั้งแรกมื่อ 24 มี.ค. ปีนี้ โดยเธอพบว่าม้าที่ฟาร์มตายพร้อมกันถึง 5 ตัวภายในวันเดียวโดยไม่ทราบสาเหตุ

หลังจากส่งผลเลือดไปตรวจจึงพบว่าม้าที่ฟาร์มตายเพราะโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness - AHS) เป็นการระบาดของโรค ที่เธอไม่เคยพบมาก่อน และมันเกิดขึ้นรวดเร็วมาก

"เราเริ่มตรวจอาการม้าที่เหลือเบื้องต้น พบว่าตัวที่ป่วยมาอาการตาแดง หัวคิ้วบวม ไม่กินอาหารและไข้ขึ้นสูง หลังจากนั้นม้าก็ทยอยตายวันละ 4 - 5 ตัว บางตัวอยู่ได้แค่วันเดียว บางตัวก็ 3 วันแต่ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์"

จนถึง 2 เม.ย. เธอสูญเสียม้าในฟาร์มไป 18 ตัว จากม้าทั้งหมด 61 ตัว แต่ฟาร์มที่เธอดูแลไม่ใช่ที่เดียวที่เกิดการตายปริศนานี้ และทุกคนกำลังเฝ้าหาคำตอบว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นคนนำโรคนี้เข้ามา และโรคที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันนี้จะส่งผลกระทบต่อม้าไทยไปอีกนานแค่ไหน

นำเข้าพาหะแบบไร้การตรวจ

หลังจากเริ่มมีการระบาดของโรคมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เจ้าของม้าหลายรายเริ่มตั้งคำถามว่า AHS ไม่ใช่โรคประจำถิ่นอย่าง แล้วเล็ดลอดเข้ามาได้อย่างไรหากไม่มีการนำเข้าสัตว์ที่เป็นพาหะมาจากประเทศต้นทางที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้อยู่

ทศพร กลิ่นแก้ว ตัวแทน องค์กรสิทธิสัตว์แห่งประเทศไทย ได้ติดตามความเคลื่อนไหวในประเด็นการแพร่ระบาดของ AHS มาตลอดและเริ่มสังเกตุการณ์จากหน้าเพจของผู้นำเข้าม้าลายบริษัทหนึ่งที่ตกเป็นเป้าสงสัยว่าอาจจะเป็นผู้นำเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้ามาในประเทศไทย

"โดยหลักปฏิบัติแล้ว ม้าลายถือเป็นสัตว์ป่าและการนำเข้ามาในประเทศไทยนั้นต้องผ่านการตรวจสอบจากกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งทางกองจะตรวจสอบแค่ใบอนุญาตนำเข้า และใบรับรองแพทย์จากประเทศต้นทาง แต่จะไม่มีการกักตัวเหมือนม้าทั่วไปที่กรมปศุสัตว์เป็นผู้รับผิดชอบ" ทศพรอธิบาย

ทศพรได้รวบรวมหลักฐานและพบการนำเข้าม้าลายที่ถือว่าเป็นพาหะของโรคนี้ของบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา มีจำนวนมากตั้งแต่ปี 2561 จนถึงเดือนมกราคม 2563 ถึง 400 กว่าตัว โดยบริษัทนี้นำเข้าม้าลายจากประเทศแอฟริกาใต้และนามีเบีย ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของ AHS แต่ประเทศไทยถือเป็นแหล่งพักกลางทางก่อนจะทำการส่งไปขายต่อที่จีน

ทศพรยังพบว่ามีอีกหนึ่งฟาร์มใน จ.ปทุมธานี ที่นำเข้าม้าลายเพื่อนำไปขายส่งให้ฟาร์มและสวนสัตว์ขนาดเล็กบางแห่งในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เมื่อเดือนกันยายนปี 2562 แต่ตอนนี้ก็ยังระบุไม่ได้แน่ชัดว่าเชื้อ AHS ที่คร่าชีวิตม้าไทยไปเกือบ 600 รายมีที่มาจากไหนกันแน่

จากการรวบรวมหลักฐานของทศพร เขาพบผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562จากฟาร์มม้าลายที่ จ. ฉะเชิงเทรา ว่าจากการนำเข้าม้าลายมาล่าสุด 375 ตัว มี 76 ตัวตาย เพราะโรคชนิดหนึ่งและที่เหลือฉีดวัคซีนและรักษาหายไปแล้วและกำลังเตรียมตัวส่งต่อไปขายให้สวนสัตว์ที่ประเทศจีน พร้อมเสนอขายผู้สนใจที่ราคาตัวละ 7 แสนบาท

จากการตรวจสอบบริษัทนำเข้าที่ถูกกล่าวหา บีบีซีได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อบริษัทแห่งนี้ไปเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แต่ไม่มีผู้รับสาย จึงเดินทางไปตรวจสอบตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ที่ ฉะเชิงเทรา พบแค่ป้ายชื่อบริษัทสีแดงแขวนไว้หน้ารั้วเหล็กที่ปิดมิดชิด และมีรั้วสังกะสีล้อมรอบที่ดินกินบริเวณกว้าง แต่ไร้เสียงตอบรับจากความพยายามติดต่อ พื้นที่ดังกล่าวมีปลูกสร้างที่เป็นอาคาร และคอกแบบเปิดจำนวนมาก แต่ไม่พบผู้ที่ทำงานหรือได้ยินเสียงใด ๆ เล็ดลอดออกมา

ความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้

จ.นครราชสีมา คือ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค AHS มากที่สุดในประเทศไทย มีม้าที่ตายจากโรคนี้ถึง 436 ตัว จากตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 รายงานโดยกรมปศุสัตว์ฯ ระบุว่ามีการตายของม้าทั้งประเทศที่ 556 ตัว

รศ. นพ. นพดล โสรบล เจ้าของฟาร์มหมอปอ ที่ จ.นครราชสีมา บอกกับบีบีซีไทยว่าม้าของเขาที่ตายไปทั้งหมด 18 ตัว มีมูลค่าตัวละ 6-7 แสนบาท และหลังจากที่เกิดการระบาด เขาได้ลงทุนไปกับมาตรการป้องกันอีกหลายล้านบาท ทำให้เขาต้องหมดค่าใช้จ่ายไปร่วม 15 ล้านบาทจากการเกิดการแพร่ระบาดของโรค AHS

นพ. นพดล อธิบายเพิ่มเติมว่าม้าที่เขาซื้อมาจากเยอรมนีต้องผ่านขั้นตอนมามากมาย ตั้งแต่การเจาะเลือดตรวจเชื้อจากประเทศต้นทาง และกักตัวรอเพื่อส่งมาประเทศไทย 1 เดือนเต็ม พอม้ามาถึงไทยก็ต้องมีการเจาะเลือดเพื่อหาโรคอีก และต้องมีการกักตัวในไทยอีก 1 เดือนก่อนที่จะพาม้ามาที่ฟาร์มได้

"แต่ม้าลายที่นำเข้ามาไม่เห็นต้องผ่านขั้นตอนเหล่านี้เลย เพียงแค่มีใบตรวจโรคจากต้นทางก็พอแล้ว และสามารถนำกลับไปที่ฟาร์มของพวกเขาได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการกักตัว และม้าลายไม่ได้อยู่ในรายชื่อสัตว์ภายใต้ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ด้วยซ้ำ" นพ. นพดล กล่าว

กัญณัฏฐ์ หลานสะอาด เจ้าของคอกม้าวีคเอน ไรเดอร์ ตั้งอยู่ที่ อ.ดำเนินสะดวก อ.ราชบุรี ก็เป็นเจ้าของฟาร์มม้าอีกหนึ่งรายที่สูญเสียม้าไป 8 ตัว ด้วยโรค AHS จากทั้งหมด 20 ตัวที่เธอเป็นเจ้าของ

เธอเปิดฟาร์มม้ามา 10 ปีด้วยความรักในม้าและศิลปะการบังคับม้า และฝึกฝนม้าโดยการจ้างครูฝึก 1 คนต่อม้า 1 ตัวเพื่อเข้าแข่งขันในรายการต่าง ๆ ค่าฝึกม้าของเธอตลอดทั้งปีมีมูลค่าหลักล้าน และม้าของเธอที่ตายไปล้วนแล้วแต่เป็นม้าที่มีประสบการณ์และผ่านการฝึกมาไม่น้อยกว่า 8 ปี นอกจากนี้ เธอยังลงทุนไปอีก 3 แสนบาทกับมาตรการป้องกันม้าที่ยังเหลืออยู่ของเธอ

"อยากจะถามว่าตอนนี้ใครจะรับผิดชอบ ทั้งจากเงินที่ต้องสูญเสียไปกับการป้องกันเชื้อ และเงินที่ลงทุนไปกับการฝึกม้ามาจนได้ถึงวันนี้ สิ่งที่ทดแทนไม่ได้ก็คือการประสบการณ์และทักษะของม้าที่ตายไป" กัญณัฏฐ์อธิบาย

โอกาสตายมากกว่ารอด

นายสัตวแพทย์ กรกฤต วิวัฒน์เมธานนท์ สัตวแพทย์ประจำโรงเรียนสอนขี่ม้าเลิศนิมิต จ.ประจวบคีรีขันธ์ บออกกับบีบีซีไทยว่าโรค AHS เริ่มมาถึงในพื้นที่หัวหินช่วงต้นเม.ย. เริ่มมีม้าป่วยและเสียชีวิตตั้งแต่ 4 เม.ย. แต่ทางโรงเรียนไม่มีม้าที่นี่ตายจากโรคนี้เพราะป้องกันได้ทัน

ถึงแม้ว่าตามหลักการ ตัวริ้นจะสามารถเดินทางได้ไกลที่สุดภายในรัศมี 150 กิโลเมตรจากที่ที่มันอยู่ และพื้นที่หัวหินก็ห่างไกลจากพื้นที่พบการระบาดที่แรกอย่าง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา นสพ. กรกฤตคาดการณ์ว่าริ้นที่เป็นพาหะของโรคเดินทางมากับรถขนหญ้าที่มาจาก อ.ปากช่อง และนำเชื้อเข้ามาระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ

นสพ. กรกฤตอธิบายว่าโรค AHS เป็นโรคประจำถิ่นของนามีเบียและแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศต้นทางของม้าลายที่นำเข้ามาในไทย ตามสถิติแล้ว อัตราการตายของของม้าลายที่มีเชื้อนี้อยู่ในตัวอยู่ที่ 3.5% แต่หากว่าเชื้อนี้เข้ามาในตัวของม้า อัตราการตายสูงถึง 95%

ม้าที่ติดโรคนี้ มักตายภายใน 24 ชั่วโมง แต่บางตัวก็ตายภายในสองสัปดาห์หลังจากการรับเชื้อ ซึ่งอาการเบื้องต้นก็คืออาการไข้สูงที่ 39-40 องศาเซลเซียส จากนั้นจะมีฟองออกมาทางจมูก หนังตาบวม ขมับบวม เชื้อลงปอด ส่งผลให้ระบบการหายใจล้มเหลว ซึ่งวิธีรักษาก็ทำได้ตามอาการเท่านั้น

นำขบวนม้ายื่นหนังสือเรียกร้อง

เมื่อ 9 มิ.ย. นายฉัตรเฉลิม จำนงนรินทร์รักษ์ เจ้าของฟาร์มม้าเดอะสตาลเลี่ยน ฮอร์สไรดิ้ง ที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี นำขบวนม้าที่ฟาร์มของตัวเอง 8 ตัวออกมาเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ผ่านการขี่ม้าพร้อมชูธงชาติเป็นริ้วขบวนเพื่อเดินทางเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตรไปยังสันเขื่อนแม่ประจันต์ แล้วเดินไปยังที่ทำการอำเภอหนองหญ้าปล้อง เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับตัวแทนปศุสัตว์จังหวัด

"สิ่งที่พวกเราคนเลี้ยงม้าทำอยู่คือการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เราอยากเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนโดยการมีมาตรการควบคุมม้าลายที่นำเข้ามาจากต่างประเทศให้เข้มข้นพอ ๆ กับการนำม้าบ้านเข้ามาทั้งการกักโรคก่อนปล่อยเข้าประเทศ และมีการตรวจโรคทุกตัวเมื่อมาถึงเพื่อให้มั่นใจว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำสองอีก" ฉัตรเฉลิมบอกบีบีซีไทย

"มาถึงวันนี้ปศุสัตว์ได้นำเข้าวัคซีนมาทั้งหมดแค่ 8,000 โดส แต่ยังมีม้ากว่าอีก 10,000 ตัวทั่วประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนตัวนี้ และยังไม่มีใครบอกได้ว่าการระบาดควบคุมได้แล้วจริงหรือไม่ พวกผมจึงอยากเรียกร้องให้ทางการไทยจริงจังกับเรื่องนี้"

ด้าน เว็บไซต์กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงประกาศกรมอุทยานแห่งชาติฯ เรื่องกำหนดชนิตสัตว์ป่าซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าที่ไม่พิจารณาให้นำเข้า ส่งออก เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรคกาฬโรค แอฟริกาในม้าเป็นการชั่วคราว ได้แก่วงศ์ม้า ยีราฟ ม้าลายเบอร์เซลล์ ม้าลายควากกา โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. 2563 ไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

บริษัทนำเข้าม้าลายใน จ.ฉะเชิงเทรา เคยกล่าวอ้างว่าม้าลายทั้งหมดที่นำเข้ามาจากแอฟริกาได้รับการตรวจโรคจากกรมปศุสัตว์แล้ว - ขอที่มาของประโยคนี้ครับ แต่ทาง นสพ. สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ปฏิเสธเรื่องนี้ระหว่างการแถลงข่าวช่วงต้น เม.ย. ยืนยันว่าไม่มีการตรวจโรคจากกรมปศุสัตว์ตามการกล่าวอ้าง เพราะก่อนหน้านี้ ม้าลายไม่ได้อยู่ในอำนาจตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558

ต่อมา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามออกประกาศกฏกระทรวงเกษตรฯ เมื่อ 8 เม.ย. กำหนดให้ม้าลาย และรวมถึงสัตว์ ในวงศ์อีไควดี (equidae) เป็นสัตว์ชนิดอื่นตามมาตรา34(4) แห่งพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ทำให้กรมปศุสัตว์ มีอำนาจในการตรวจสอบการนำเข้า นำผ่าน ส่งออกทุกขั้นตอนอย่างละเอียด

น.สพ. สรวิศ กล่าวกับบีบีซีไทยเมื่อต้นสัปดาห์ว่าขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

"ตามหลักระบาดวิทยาถ้าไม่พบม้าตายมาเป็นเวลาเกิน 30 วัน ถือเราสามารถควบคุมโรคอยู่ในวงจำกัดได้แล้ว ซางจนถึงตอนนี้เราไม่พบม้าที่ป่วยด้วย AHS รายใหม่มาเป็นเวลาเกินหนึ่งสัปดาห์แล้ว"

"เราได้ทำงานร่วมกันกับหลายฝ่ายในการลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างรวดเร็ว ขั้นต่อไปของเราตอนนี้คือการตรวจหาโรคจากตัวอย่างที่เป็นพาหะหลักคือตัวริ้นดูดเลือดจากพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้มันใจได้ว่าโรคในพื้นที่ที่มีการระบาดได้หายไปแล้วจริง ๆ"

น.สพ. สรวิศ อธิบายว่าตัวริ้นสามารถเดินทางผ่านลมหรือพายุที่มาในช่วงฤดูฝนได้ แต่ทางกรมปศุสัตว์ได้ฉีดยาฆ่าแมลงในพื้นที่ที่พบการระบาดแล้ว

"เราส่งทีมลงพื้นที่ตรวจสอบอยู่และบริษัทที่นำเข้าม้าลายยังมีอีกหลายที่ ไม่ได้พีเพียงแค่ที่ จ.ฉะเชิงเทราเพียงที่เดียว ซึ่งเรากำลังดำเนินการเก็บตัวอย่างอยู่และทันทีที่ผลออกมา ทางเราจะประกาศให้ทราบ ส่วนเรื่องของการตรวจเรามีวิธีการตรวจในระดับจีโนมซึ่งผลที่ออกมาจะสามารถบอกได้ว่าต้นตอมาจากไหน" น.สพ. สรวิศ อธิบาย

หรือเรากำลังหลงทาง

มาจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีที่มาอย่างไร การที่มีผู้เลี้ยงม้าและนักเคลื่อนไหวหลายรายออกมาบอกว่าต้นเหตุของการแพร่เชื้อน่าจะมาจากม้าลาย แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงแค่การสันนิษฐาน

สมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวกับบีบีซีไทยว่า จริง ๆ แล้วพาหะของโรค AHS มี ม้า ลา ล่อ และอูฐเป็นพาหะ ซึ่งใครจะไปรู้ว่าจริง ๆ แล้วอาจจะเกิดมาจากการนำเข้าสัตว์เหล่านี้ก็ได้ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนโรคอยู่ว่าแท้จริงแล้วมาจากที่ไหน

นสพ. สรวิศ อธิบายว่าสาเหตุที่คนหลายคนมุ่งประเด็นไปที่ม้าลายที่เป็นสาเหตุของการแพร่ของ AHS ในไทยก็เป็นเพราะสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่เป็นพาหะของโรคชนิดนี้ซึ่งได้แก่ ม้า ลา ล่อ และอูฐ ต่างก็เป็นสัตว์ที่อยู่ในทะเบียนของพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 และกรมปศุศัตว์ มีอำนาจในการตรวจโรคและกักกันสัตว์ก่อนจะปล่อยเข้าประเทศ แต่ม้าลายเป็นพาหะเพียงชนิดเดียวที่ไม่ใดอยู่ในทะเบียนนี้จนกระทั่งเมื่อ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา

"มีหลายคนออกมาบอกว่าที่มาของโรคน่าจะมาจากม้าลายที่นำเข้ามาโดยบริษัทหนึ่งที่ อ.เขาหินซ้อน แต่ว่าในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของบริษัทดังกล่าวไม่มีรายงานว่ามีม้าตายแต่อย่างใด ผมเลยอยากจะถามว่าวันนี้เรากำลังหลงทางกันหรือเปล่า" สมเกียรติตั้งคำถาม

"พอเกิดเหตุกรมอุทยานฯ ก็ลงพื้นที่ไปยังบริษัทที่ถูกกล่าวหาเพื่อไปตรวจสอบ สิ่งหนึ่งที่เรารู้มาก็คือบริษัทนี้ได้นำเข้ามาลายมาตั้งแต่ปี 2018 (2561) ถ้าจะมีการระบาด มันต้องมีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมีตอนนี้"

สมเกียรติอธิบายเพิ่มเติมว่าสัตว์ที่นำเข้ามามาจากต่างประเทศทุกตัวต้องมีใบรับรองแพทย์จากต้นทางพร้อมระบุว่าสัตว์ไม่มีโรค ทางฝั่งนี้ก็มีหน้าทีตรวจสอบว่าประเทศต้นทางมีโรคระบาดชนิดใดที่จะส่งผลกระทบต่อประเภทของวัตว์ที่จะนำเข้าบ้าง และให้แพทย์ที่ประเทศต้นทางตรวจหาโรคนั้น ๆ พร้อมโรคที่กำหนดเอาไว้

"จริง ๆ แล้วม้าลายถือว่าเป็นสัตว์ป่า และทางกรมปศุสัตว์ ไม่มีอำนาจในการกักกันสัตว์และตรวจโรค แต่ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้กรมปศุสัตว์ทำหน้าที่กักตัวและตรวจเลือดแบบเดียวกันกับม้าทั่วไปที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ" สมเกียรติกล่าว

อีกสองปีปลดล็อคสถานภาพปลอดโรค

10 มิ.ย. กรมปศุสัตว์ จัดประชุมในระดับภูมิภาคในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาด AHS ในประเทศไทยเพื่อรายงานความคืบหน้าต่อสถานการณ์ โดยองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health, OIE) ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยว่ามีการควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

"การระบาดของ AHS ที่เคยเกิดขึ้นในอินเดียส่งผลให้ม้าตายไปเป็นหมื่นตัว แต่เรามีตายทั้งหมดแค่ 556 ตัว และอย่างในประเทศโมร็อกโกก็ใช้เวลาควบคุมอยู่นานถึง 6 ปี แต่ไทยใช้เวลาเพียงแค่ 2 เดือนก็สามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว" น.สพ. สรวิศกล่าวด้วยความภูมิใจ

"แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ตอนนี้ไทยยังถือว่ายังอยู่ในระยะที่ 1 อยู่ซึ่งหมายความว่าไม่พบการตายภายใน 28 วันที่ผ่านมา และต่อไปจะเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะเฝ้าระวัง โดยทางเราได้ทำการสำรวจม้า ลา ล่อ ทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 17,000 ตัว ว่าพบเชื้อหรือไม่"

"จากนั้นจึงเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่ถือได้ว่าเป็นระยะปลอดโรค ซึ่งตามหลักสากลต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าที่เราจะไปถึงจุดนั้นได้และทาง OIE ถึงจะคืนสถานภาพปลอดเชื้อให้กับเรา"

ทางกรมปศุสัตว์กำลังทำเรื่องให้แบ่งสถานภาพปลอดเชื้อตามพื้นที่ไป โดยพื้นที่ที่ไม่พบเชื้อเลยจะได้รับสถานภาพก่อนและสามารถนำเข้าสัตว์มาได้ก่อนที่ทั้งประเทศจะได้รับสถานภาพนั้น แต่ น.สพ. สรวิศ ย้ำว่าทั้งนี้ต้องคืนอยู่กับทุกฝ่ายว่าจะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน

Let's block ads! (Why?)


June 11, 2020 at 12:52PM
https://ift.tt/37ogzy6

ม้าตายเพราะกาฬโรคแอฟริกา ไทยคุมการระบาดได้แล้วจริงหรือ - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2ZXuIAi
Home To Blog

No comments:

Post a Comment