“ผมพอแล้ว...”
นั่นเป็นคมวาทะการเมืองที่ยังคงจดจำกันมาถึงวันนี้เมื่อประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯทำให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ ได้ขึ้นเป็นนายกฯคนต่อไป
อีกขอบจอหนึ่งฉายภาพไปที่พรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาล ซึ่งมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ก็เป็นไปตามบทไม่มีอะไรในกอไผ่
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธ์ศาสตร์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรค เคียงข้างด้วยนายอนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรคก็ออกมาตามโผ
“4 กุมาร” หลุดไปทั้งพวงรวมถึงผู้สนับสนุนที่มาด้วยกันตั้งแต่แรกในฐานะผู้ก่อตั้งพรรค
แต่อีก 3 คน คือ นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ยังมีตำแหน่งรัฐมนตรีสวมหัวโขนอยู่
ที่จะลุ้นกันต่อถือเป็นไฮไลต์น่าจะอยู่ตรงเรื่องนี้แหละ...
ฟังเสียงจากแกนนำที่มีบทบาทในพรรค ซึ่งเป็นกรรมการบริหารชุดใหม่ระบุว่าพลังประชารัฐจะเป็นพรรคใหญ่อันดับ 1 ของประเทศในทางการเมือง ซึ่งจะมีอนาคตต่อไปข้างหน้า
“ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ”...ก็ฟังๆกันเอาไว้เมื่อเปิดหัวใหม่เป็นประเดิมพร้อมแก้ไขโลโก้พรรคอีกรอบเอาฤกษ์เอาชัย
ว่าไปแล้วเมื่อครั้งที่ “ป๋าเปรม” เป็นนายกฯนั้นไม่มีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองต้องอาศัยพรรคการเมืองอื่นให้การสนับสนุนแต่ก็ฝ่าดงการเมืองมาได้ด้วยผลงาน การตัดสินใจที่เด็ดขาด ความโปร่งใสจนได้รับการยอมรับอย่างสูง
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯคนปัจจุบัน ซึ่งมีที่มาที่ไปต่างกัน เริ่มสมัยที่เป็น ผบ.ทบ. ได้ทำการยึดอำนาจเข้ามาเป็นผู้นำประเทศในนาม คสช.
ต่อทอดยาวมาถึงรัฐบาลเลือกตั้ง ซึ่งมีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศไทย
แต่มีความต่างตรงที่รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้มีพรรคการเมืองคือ พลังประชารัฐให้การสนับสนุนด้วยการแบ่งภาคให้ พล.อ.ประวิตรเข้าไปดูแลโดยตรง
พล.อ.ประยุทธ์เล่นบทผู้บริหารประเทศไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองแต่อย่างใด แต่มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุดรวมถึงการแต่งตั้ง ครม. ร่วมรัฐบาล
เป็นการเล่นคนละบทส่งเสริมกันแต่ไม่ใช่ต่างคนต่างเล่น แม้บางคนจะมีมัวๆบ้างแต่ก็เป็นภาพเดียวกันอย่างแยกไม่ออก
แม้จะจัดการปัญหาการเมืองในพลังประชารัฐได้เรียบร้อย แต่เส้นทางจากนี้ไปคือการปรับ ครม. ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของปัญหา
เท่ากับเป็นบททดสอบเบื้องต้นในการบริหารจัดการว่าจะทำให้เกิดความราบรื่นได้แค่ไหน ทั้งในพรรคและการรับปัญหาใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้าคือเรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงการเมืองนอกสภาที่ระอุอยู่
นี่แหละ...พอจะชี้ถึงอนาคตข้างหน้าได้
เพราะที่ผ่านมานายกฯและรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศในลักษณะนี้ เมื่อมาถึงจุดนี้ด้วยความที่ไม่มีอุดมการณ์ร่วมกันมาตั้งแต่ต้นแต่ยึดตัว “บุคคล” ที่อยู่ในกลุ่มอำนาจเป็นหลัก
ถึงเวลาหนึ่งก็ต่างคนต่างไปเมื่อไม่สมประโยชน์กัน?
“สายล่อฟ้า”
June 29, 2020 at 05:01AM
https://ift.tt/2ZgOi90
ยังไม่จบเพียงแค่เริ่มต้น - ไทยรัฐ
https://ift.tt/2ZXuIAi
Home To Blog
No comments:
Post a Comment