29 กรกฎาคม 2563 | โดย สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
15
ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง"จืด เด็กรักป่า" กับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำให้เขาออกเดินประท้วงบนเส้นทางรถไฟ และนี่เป็นอีกมุมมองของคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเคยพึ่งพาแหล่งทุนทั้งภาครัฐและเอกชน
ตอนนี้นายเข็มทอง โมราษฎร์ หรือชายหน้าแป้นที่รู้จักกันดีในวงการสิ่งแวดล้อมรุ่น 20 ปีก่อนในนาม “จืด เด็กรักป่า” คงจะเดินเท้าประท้วงจากบ้านที่สุรินทร์ถึงศาลปกครองที่กรุงเทพฯ ในฐานะจำเลยที่ถูกกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฟ้องร้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เรื่องมีอยู่ว่า กองทุนได้ตัดสินใจให้ทุนเขาเป็นวงเงิน 2 ล้านบาทระหว่างปี 2560-2561 เพื่อผลิตภาพยนตร์เรื่อง “นกเงือกเทือกเขาบูโด” โดยทำสัญญาแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ แต่ในวันนี้เขาถูกทางกองทุนพัฒนาสื่อฯ กล่าวหาว่าไม่ส่งงานตามงวดและเรียกคืนเงิน 800,000 บาทที่เบิกจ่ายไปแล้ว
ปัญหาได้เกิดขึ้นเมื่อการจ่ายงวดจากกองทุนฯ ล่าช้า จนจืดและผู้รับทุนอื่นๆ ประสบปัญหาในการทำงาน บางคนต้องสำรองจ่ายด้วยเงินส่วนตัวไปก่อน อีกหลายคนไม่มี จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งในครั้งแรกที่กองทุนจ่ายช้า จืดก็กู้ยืมเงินเช่นกัน แต่พอเจอปัญหาเดิมในงวดถัดไป เขาก็ไม่อยากกู้ยืมอีกแล้ว จึงขอยกเลิกโครงการ ซึ่งในเบื้องต้นทางกองทุนฯ ก็ยินยอม
ส่วนปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จนเป็นคดีความจะมีรายละเอียดอย่างไร เราคงติดตามข่าวกันได้ แต่สิ่งที่อยากจะเขียนถึงคือเรื่องปัญหาบริหารจัดการกองทุนต่างๆ ของภาครัฐซึ่งควรจะสรุปบทเรียนได้ไปตั้งนานแล้ว
ในฐานะคนทำงานองค์กรสาธารณประโยชน์มานานหลายสิบปี เคยพึ่งพาแหล่งทุนมาหลากหลายองค์กร ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทั้งเทศและไทย บอกได้เลยว่าปัญหาการจ่ายเงินล่าช้าเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมานานแล้วในกองทุนรัฐไทยหลายแห่ง สืบเนื่องมาจากกฎระเบียบกึ่งราชการในองค์กรอิสระ แต่มันไม่ใช่ปัญหาที่ผู้บริหารแคร์จะแก้ไม่ได้
ครั้งแรกที่ฉันขอรับทุนกองทุนของรัฐบาลไทยเมื่อ 20 ปีก่อน คือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดและโครงการวิจัยที่เสนอไปเป็นไปด้วยดี จนถึงขั้นใกล้จะเซ็นสัญญา แต่ในระหว่างนั้นฉันก็ถามไถ่เม้ามอยกับโครงการอื่นๆ ที่เคยรับทุนเดียวกันนี้ไป และหลายโครงการมาก ประสบปัญหาเบิกเงินล่าช้าในแต่ละงวด เพื่อนคนหนึ่งต้องลุกขึ้นทำธุรกิจซื้อขายรถมือสอง เพื่อหาเงินมาประคองโครงการระหว่างงวดเบิกจ่าย มิเช่นนั้นกระบวนการทำงานที่ผ่านมาทั้งหมดจะล้มครืน เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าแรงและกิจกรรมที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุที่การส่งเงินแต่ละงวดช้าเป็นประจำ เพราะทุกโครงการจะมีคณะกรรมการตรวจสอบ กรรมการก็มักจะเป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัย พอโครงการส่งรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการตามงวดมา—ส่วนใหญ่จะทุกๆ 6 เดือน ทางกองทุนก็ต้องส่งรายงานนั้นต่อไปให้อาจารย์กรรมการต่างๆ อ่านและให้ความเห็น บางทีกรรมการก็เดินทางไปประชุมต่างประเทศ แล้วไหนจะงานอื่นๆ ของตัวเองอีกมากมาย กว่าจะได้อ่านรายงานก็อาจปาเข้าไปเป็น 1-2 เดือน ส่งความเห็นกลับมาที่กองทุน ทางผู้ดูแลโครงการในกองทุนสรุปส่งเรื่องต่อไปให้ฝ่ายบัญชีเบิกเงินงวดต่อไป ก็ใช้เวลาไป 2-3 เดือน
ถ้าไม่มีเงินสำรองจ่ายเอง มีสักกี่โครงการที่จะรอด?
พอเม้ามอยได้ข้อมูลภาคปฏิบัติมา ฉันเลยเข้าไปหารือกับ รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผู้อำนวยการกองทุน สกว. ฝ่ายที่ฉันประสานงานด้วยก่อนที่จะตกลงเซ็นสัญญา ระบุชื่ออาจารย์ไว้ตรงนี้ เพื่อให้เครดิตผู้บริหารยอดสร้างสรรค์แก้ปัญหาได้ตัวจริง อาจารย์นำเรื่องไปหารือกันและภายในสองอาทิตย์ก็ได้ข้อสรุปว่า เมื่อโครงการส่งรายงานเข้ามา ทางกองทุนจะส่งเงินครึ่งหนึ่งของงวดนั้นให้ทันที เพื่อให้การทำงานลื่นไหลต่อไปได้ สามเดือนต่อไปเมื่อกรรมการต่างๆ พิจารณาแล้วเห็นสมควรสนับสนุนโครงการต่อก็ส่งเงินอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ
เป็นทางออกที่สมเหตุสมผล เพราะโอกาสที่โครงการที่ผ่านด่านการคัดเลือกในขั้นตอนต่างๆ มาแล้วจนตกลงเซ็นสัญญาจะห่วย จนต้องยกเลิกกลางคันคงมีน้อยมาก อย่างมากก็เจออุปสรรคปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งทางกองทุนและกรรมการก็จะสามารถเข้ามาช่วยหาทางแก้ไขได้
และถ้าพบว่ามันห่วยขนาดนั้น จนต้องยกเลิกการสนับสนุน กองทุนก็เสียเงินสาธารณะไปเพียงไม่เท่าไหร่ ส่วนใหญ่แค่หลักแสน เทียบไม่ได้กับการถลุงเงินสาธารณะที่เหล่าแฮมทาไร่ออกมาวิ่งไล่
ที่แน่ๆ คือเทียบไม่ได้กับปัญหาที่ตัวกองทุนจะเป็นผู้ก่อให้กับโครงการนั้นๆ เสียเอง
สกว.จึงเป็นกองทุนในประเทศอันดับต้นๆ ที่ฉันจะให้ดาว ในขณะที่อีกหลายๆ แห่งร่างสัญญาชนิดรับไม่ได้จริงๆ เช่น ไม่จ่ายค่าตัวมันสมองทำงาน คุณต้องมีจิตอาสา แต่จะเอาลิขสิทธิ์งานทั้งหมดเป็นของกองทุน มีบทลงโทษส่งรายงานช้า แต่ถ้าตัวเองส่งเงินให้ช้าไม่เป็นไร ภาพที่นำเสนอหน้าสังคมคือ คนดีมีศีลธรรม ตอนจีบให้เสนอโครงการรับทุนจะพูดจาน่านับถือ ประมาณว่าเราเป็นหุ้นส่วนเท่าเทียมกันระหว่างผู้ให้ทุนและผู้ลงสมองลงแรง
เจอแบบนี้ถ้าเจรจาแล้ว ยังไม่ปรับเปลี่ยนก็ไม่ควรไปรับทุน ไม่มีใครบังคับเราได้
คือบางทีก็อยากด่าคนรับทุนที่ทำสัญญาไม่ยุติธรรมว่า จะบ่นอะไรถ้าไปยอมเซ็นสัญญากับเขาตั้งแต่ต้น
แต่เราก็เข้าใจดีว่ าเงินทุนสนับสนุนงานสาธารณประโยชน์ต่างๆ มีอยู่จำกัด บางคนจำยอมเพราะอยากให้งานที่มองว่าสำคัญได้เกิดขึ้น
ประเด็นที่เล่าเรื่องให้รายละเอียดมายืดยาวทั้งหมดคือ ประเทศไทยควรมีทุนสนับสนุนงานวิจัยงานสร้างสรรค์งานบุกเบิกต่างๆ ที่ไม่สามารถสร้างกำไรได้เอง แต่เป็นสิ่งที่สังคมต้องการ เฉกเช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้สนับสนุนงานสื่อสร้างสรรค์จนโด่งดังไปทั่วโลกและกลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ
หากจะทำได้อย่างนั้น นอกจากจะมีนโยบายตั้งกองทุนแล้ว ผู้บริหารกองทุนยังต้องเข้าใจบทบาทของตัวเองในการเป็นผู้สนับสนุนงาน ตั้งแต่การคัดเลือกโครงการไปจนถึงการเกื้อหนุนเชิงบริหารให้คนมีฝีมือที่ผ่านการคัดเลือกสามารถทำงานได้ ไม่ใช่นั่งกินตำแหน่งหรูๆ แอบอยู่หลังกฏระเบียบที่เป็นปัญหาให้ตัวเองปลอดภัยที่สุดไปจนหมดวาระ
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ ไม่เพียงแต่มีปัญหาการส่งงวดเงินโครงการตามปกติที่กองทุนรัฐหลายแห่งเป็น แต่ยังมีปัญหาในกระบวนการคัดเลือกโครงการสนับสนุนอีกด้วย เราไม่พูดถึงข่าวเม้ามอยเล่นพวกเล่นเส้นที่ได้ยินมาหนาหู แต่พูดจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง คือ เรานำเสนอโครงการเข้าไปให้พิจารณาไอเดียและแผนงานบนกระดาษ ผ่านเข้ารอบ แต่ไม่ยอมให้เข้ามาพูดคุยซักถาม ตัดสินเลยว่า งานแบบนี้เอาเงินไปครึ่งเดียวกับที่ขอมาก็พอ ไม่เคยคิดจะถามว่าทำไมงบที่เสนอไปจึงจำเป็น ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่งบสูงเมื่อเทียบกับราคาการทำงานขนาดเดียวกันในตลาด
เราก็เลยตัดสินใจไม่รับทุน ซึ่งพอเห็นปัญหามากมายที่ผู้รับทุนอื่นๆ เจอ ก็รู้สึกโล่งใจที่ไม่ได้ถลำตัวไปรับมาทำงาน
ผู้บริหารทุกคนไม่จำเป็นต้องเก่งเท่าอาจารย์สุชาตาแห่งสกว. แต่หัวใจต้องใหญ่เบอร์นั้น เพราะหัวใจที่ยิ่งใหญ่จะทำให้คุณอยากหาทางออกที่เหมาะสมแก่ทุกฝ่าย ทั้งคนทำงานและฝ่ายบัญชี เมื่อคิดเองไม่ออกก็จะอยากถามไถ่หารือกับคนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์
คำถามจึงมีว่า ทำอย่างไรเราจะได้คนเก่งใจกว้างมาบริหารกองทุนสาธารณะ?
July 29, 2020 at 09:00AM
https://ift.tt/30Z67dh
กองทุนสาธารณะกับปัญหาการบริหารเงิน ที่มาของ'จืด เด็กรักป่า'เดินประท้วง - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/2ZXuIAi
Home To Blog
No comments:
Post a Comment