แม้บรรยากาศการส่งร่างของนายลีอุย หรือ ซีอุย แซ่อึ้ง ที่สังคมตราหน้าว่าเขาคือ "มนุษย์กินคน" จะไม่ปรากฏรายชื่อญาติมาร่วมงาน แต่ชาวบ้านทับสะแกจำนวนหนึ่งก็เดินทางมาร่วมไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายให้กับชายผู้นี้
เวลาประมาณ 08.00 น. วันนี้ (23 ก.ค.) เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และมูลนิธิร่วมกตัญญูนำร่างของ น.ช.ลีอุย หรือซีอุย จากศิริราชพยาบาลมาถึงวัดบางแพรกใต้ จ.นนทบุรี เพื่อตั้งศพบำเพ็ญกุศลก่อนที่จะมีการฌาปนกิจในเวลา 12.30 น. และเก็บอัฐิในเวลา 16.00 น.
นอกจากเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และสื่อมวลชนเดินทางมาร่วมพิธีแล้ว ยังมีนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งระบุว่าการจัดพิธีในวันนี้เป็นการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับนักโทษชายซีอุย และกรณีเช่นนี้ถือเป็นครั้งแรกในเอเชีย
นางอังคณากล่าวว่า กรณีนี้น่าจะเป็นกรณีศึกษาในเรื่องสิทธิพลเมืองเพราะนักโทษชายซีอุยได้รับโทษตามความผิดแล้วคือถูกพิพากษาประหารชีวิต แต่หลังจากนั้นกลับมีการนำร่างมาจัดแสดงและเขียนอธิบายว่าเป็น "มนุษย์กินคน" ซึ่งถือว่าเป็นการลิดรอนความเป็นมนุษย์
ชาวทับสะแกขอจดจำเพียงแต่ภาพดี ๆ
วรรณภา ทองฉิม ชาวทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ วัย 68 ปี หนึ่งในคณะที่เดินทางมาร่วมงานฌาปนกิจนายซีอุยบอกกับบีบีซีไทยว่า นี่ถือวันแห่งความสำเร็จที่ชาวทับสะแกได้เคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับซีอุย
เธอบอกว่า ซีอุยไม่มีญาติพี่น้อง ครอบครัวของเธอมีความใกล้ชิดกับครอบครัวของนายซีอุย ที่ผ่านมาแม่และพ่อเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องของเขา ทำให้เรารู้สึกสงสาร ว่าเขาเป็นผู้ถูกกระทำ
"ซีอุยมาจากซัวเถาที่เมืองจีนพร้อมกับคนในหมู่บ้านของเขา เพราะว่าที่นี่มีที่ทำกินเยอะ ตอนนั้นแม่ของดิฉันทำลานมันสำปะหลัง เขาก็เลยเริ่มทำงานที่นี่ด้วย"
วรรณภาเล่าว่า ซีอุยยังช่วยเลี้ยงดูพี่สาวของเธอด้วยตอนเด็ก ๆ
เธอบอกว่าคนในชุมชนทับสะแกเองได้ถ่ายทอดเรื่องราวที่ดี ๆ ของซีอุยมาโดยตลอด ส่วนซีอุยเองไม่ได้แก้ต่างให้ตัวเอง อาจจะเป็นเขาเป็นคนพลัดถิ่นจึงทำให้เขาไม่กล้าพูด เพราะเกรงว่าจะถูกส่งกลับประเทศ
เก็บอัฐิไว้ที่วัดบางแพรกใต้
วรรณภาบอกว่าชาวบ้าน อ.ทับสะแก เดินทางมาด้วยกันทั้งหมด 8 คน และมาสมทบกับชาวทับสะแกที่อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อร่วมส่งดวงวิญญาณและอำลาซีอุยเป็นครั้งสุดท้าย
"จะเผาแล้วไม่ทราบว่าญาติของเขารู้ไหม" เธอกล่าว "แต่ก็หวังแต่ว่าจะมีการส่งข่าวไปให้ญาติของเขารู้ว่าวันนี้จะมีการฌาปนกิจ และหวังว่าซีอุยจะได้หมดห่วง หมดกรรมของเขา"
ก่อนการเดินทางมากลุ่มชาวบ้านทับสะแกคาดว่าจะเจรจากับกรมราชทัณฑ์ว่าจะขอนำอัฐิของซีอุยกลับไปเก็บไว้ที่หมู่บ้าน แต่วรรณภากล่าวว่า จากที่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่เรือนจำแล้ว ได้คำตอบว่าเถ้ากระดูกที่เหลือจะต้องเอาไว้ที่วัดเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำไปลอยอังคารได้ เนื่องจากเป็นระเบียบของทางกรมฯ
"ทำได้อย่างเดียวคืออุทิศส่วนกุศลให้เขา แต่ในใจคิดว่าถ้าเผาแล้วก็น่าจะลอยอังคารไป จะได้ไปสู่สุคติภพ" เธอกล่าว
อดีตนักแสดงเป็นซีอุยบอกเป็นบทที่ทำให้คน "เกลียดและกลัว"
เทิดพร มโนไพบูลย์ อายุ 69 ปี อดีตนักแสดงที่เคยรับบทบาทเป็น "ซีอุย" ในละครทางโทรทัศน์ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อปี 2527 ซึ่งมาร่วมพิธีด้วย บอกกับบีบีซีไทยว่าดีใจที่ซีอุยได้พ้นมลทินไปแล้ว แต่ก็ยอมรับว่า ตำนาน "มนุษย์กินคน" ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ลบล้างจากใจได้ไม่ง่าย ต้องใช้เวลา แต่ก็มีสัญญาณที่ดีที่เริ่มมีการพูดถึงการเป็น "แพะรับบาป"
เขาเล่าย้อนไปถึงช่วงที่จะต้องรับบทซีอุยว่า เป็นงานทำใจลำบาก เพราะตอนนั้นเพิ่งเข้าวงการรับบทเป็นเพียงตัวประกอบคนใช้ที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม แต่ว่าต้องรับบทตัวละครเอกตัวนี้ ตอนนั้นคิดหนักมาก เพราะหวั่นว่าจะส่งผลกระทบต่อตัวเขาอย่างไร เพราะตัวละครตัวนี้เป็นที่พูดถึงในสังคมในวงกว้าง แม้ว่าจะนำมาซึ่งภาพจำของสังคมต่อตัวเขา
"ทางกันตนา บอกให้ผมไปตัดผม พอทุกคนดูแล้วก็ลงความเห็นกันว่า ผมนี่แหละเหมาะกับตัวละครตัวนี้ พอได้ยินแล้ว เราก็รู้สึกตกใจ ไม่อยากเล่นกลัวคนเกลียด" เขาบอกและพยายามต่อรองผู้เขียนบทให้เปลี่ยนตัวละครแต่ก็ไม่เป็นผล
ส่วนเหตุผลที่เทิดพรยอมเล่นละครเรื่องนี้เพราะเห็นว่ามีโอกาสไม่มากนักที่จะได้รับบทสำคัญแบบนี้
อดีตนักแสดงรายนี้ยอมรับว่า ในงานการแสดงถือว่าประสบความสำเร็จเพราะทำให้คนรู้สึกเกลียดและกลัว แต่ผลกระทบต่อตัวเขาก็มีเพราะกลายเป็นภาพจำต่อตัวเขาไปแล้ว
ที่มา-ตำนานซีอุย
บทความโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ต.ค. 2546 ย้อนเรื่องราวคดีที่สะเทือนขวัญสังคมไทย ระหว่างปี 2497 - 2501 ที่ปิดม่านลงด้วยการที่ศาลอุทธรณ์ ตัดสินโทษประหารชีวิต หลีอุย แซ่อึ้ง ที่ถูกเรียกเพี้ยนเป็น "ซีอุย" ฐานฆาตกรรมโหดกินเนื้อมนุษย์คดีสุดท้ายเพียงคดีเดียว จาก 6 ศพ / 7 คดี ที่เป็นข่าว
ตามบันทึกคำให้การของตำรวจ ระบุว่า ซีอุยเกิดประมาณปี 2464 ตำบลฮุนไหล เมืองซัวเถา ประเทศจีน เมื่อโตเป็นวัยรุ่น ได้ถูกเกณฑ์ไปประจำหน่วยทหาร ต่อสู้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่น เมื่อสงครามสิ้นสุด จึงถูกเกณฑ์ไปรบกับฝ่ายเหมาเจ๋อตุง ก่อนหนีทหารเข้ามาในไทย เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2489
คำให้การวันที่ 30 ม.ค. 2501 ยืนยันว่า "มาอยู่เมืองไทยครั้งแรกที่ตำบลทับสะแก จ. ประจวบคีรีขันธ์" ทำงานรับจ้างทั่วไป อยู่ไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง แต่ข้อสันนิษฐานมัดตัว คือ เส้นทางและแหล่งพักพิงของซีอุยในช่วงเกิดคดีฆาตกรรม ตรงกับสถานที่เกิดเหตุของคดีทั้ง 7 คือ ประจวบคีรีขันธ์ 4 ดคี กรุงเทพฯ นครปฐม และระยอง แห่งละ 1 คดี
พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันนท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า นายลีอุยถูกจับกุมเนื่องจากก่อคดีสะเทือนขวัญฆาตกรรมเด็กในหลายพื้นที่ ศาลฎีกาได้ตัดสินประหารชีวิตนายซีอุย เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2502 ณ เรือนจำบางขวาง จากนัั้นศพได้ถูกนำไปจัดแสดงเพื่อการศึกษาที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน เพื่อเป็นวิทยาทานให้เกิดการเรียนรู้ทางนิติเวชศาสตร์ตั้งแต่ปี 2502 จนกระทั้งปี 2562 ได้มีการยกเลิกการจัดแสดงร่างของนายซีอุย และนำออกจากพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากอาจจะเข้าข่ายหมินประมาทและละเมิดสิทธิของผู้เสียชีวิต พร้อมตั้งประกาศตามหาญาติของเขา เพื่อเปิดโอกาสให้ญาติได้ดำเนินการเกี่ยวกับศพให้เหมาะสม แต่เมื่อครบกำหนด กลับไม่มีบุคคลใดที่สามารถแสดงตัวว่าเป็นทายาทหรือญาตของนายซีอุยได้
ภาพควันไฟที่ลอยออกจากจากเมรุวัดแพรกใต้ในวันนี้ ถือเป็นการปิดฉากตำนานซีอุยพร้อมกับล้างมลทินตลอดกว่า 60 ปี จากการเป็นผู้ที่ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็น "มนุษย์กินคน"
July 23, 2020 at 12:28PM
https://ift.tt/3hqd9yu
ซีอุย : ฌาปนกิจร่าง "ซีอุย แซ่อึ้ง" ปิดตำนานผู้ที่ถูกสังคมตั้งฉายา "มนุษย์กินคน" - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2ZXuIAi
Home To Blog
No comments:
Post a Comment