Pages

Monday, August 10, 2020

แฟลชม็อบ: “เกียมอุดมฯ” กับปรากฏการณ์ “กะลาแตก” ของเด็กหัวกะทิ - บีบีซีไทย

supokia.blogspot.com
  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ชู 3 นิ้ว

ท่ามกลางแนวร่วม "แฟลชม็อบ" ที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มนักเรียนที่เรียกตัวเองว่า "เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ" อาจเป็น "น้องเล็ก" ด้วยสถานภาพนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่พวกเขาคาดหวังว่าความเคลื่อนไหวที่ปรากฏ จะช่วยพาทุกคนไปสู่สังคมในแบบที่ต้องการ ทว่าหากไม่เป็นดังฝัน พวกเขาอาจต้องกลายเป็น "ตัวร้ายในประวัติศาสตร์"

กิจกรรม "แฟลชม็อบ" ภาค 2 ถูกจัดขึ้นในวันศุกร์สัปดาห์ที่ 4 และ 5 ของเดือน ก.ค. เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ตอ.) ทุกคนมีโอกาสเข้าร่วมในช่วงที่โรงเรียนกำหนดให้ผู้มีเลขประจำตัวคี่กับคู่สลับกันมาเรียนคนละสัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งวันศุกร์ยังเป็นวันที่นักเรียนเลิกคาบเรียนเร็วกว่าปกติ

อะไรคือแรงผลักให้เด็ก ม.ปลาย ที่มีอายุเพียง 16-18 ปี ต้องฉีกขนบ "เด็กดีในสายตาผู้ใหญ่" วางตำราเรียน-ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวท้าทายผู้มีอำนาจ ในโมงยามที่ระยะห่างระหว่างวัยได้พัฒนาเป็นช่องว่างทางความคิด

บีบีซีไทยสนทนากับ 3 สมาชิกกลุ่มเกียมอุดมฯ แม้ทั้งหมดมีอายุเกิน 18 ปีแล้ว ทว่าเพื่อรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวของเยาวชน พวกเขาจึงขอให้เรียกว่า "คอร์กี้" "จิงโจ้" และ "ชิวาว่า"

เด็กเกียม

เด็กที่โตมากับ กปปส. ก่อนถูก "เคาะกะลาแตก"

ประสบการณ์และความทรงจำในวัยเยาว์เป็นสิ่งที่เราแทบทุกคนเลือกไม่ได้-เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่มันได้กำกับความคิด ส่งผลต่อวิธีมองโลกในปัจจุบัน รวมถึงกำหนดความใฝ่ฝันในอนาคต

แกนนำกลุ่มทั้ง 3 คนเติบโตมาในครอบครัวที่มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง ชิวาว่าได้ยินข้อถกเถียงระหว่าง "อุดมการณ์เหลือง-แดง" บนโต๊ะอาหารตั้งแต่เด็ก เนื่องจากแม่ของเธอเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ส่วนพ่อสนับสนุนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

"ที่ผ่านมา ถูกชักจูงไปทางแม่มากกว่า เพราะแอบรักแม่มากกว่าพ่อ" ชิวาวากล่าวพร้อมหัวเราะเล็ก ๆ ระหว่างสนทนาผ่านแอปพลิเคชันประชุมออนไลน์

"พอเข้า ม.ต้น มีการชุมนุม กปปส. (ปี 2556-2557) แม่ก็ไปร่วมและชวนหนูไปด้วย จริง ๆ รู้สึกไม่ค่อยชอบเท่าไร เพราะตอนนั้นเริ่มหาข้อมูลอ่านเพิ่มเติมเองแล้ว แต่เราก็ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมาย 'นิรโทษกรรมสุดซอย' กระทั่งเกิดรัฐประหารปี 2557 จึงเห็นภาพค่อนข้างชัดว่าประเทศเราอยู่ภายใต้อำนาจนิยม ถูกทหารควบคุมมาก ความรู้สึกมันเหมือนค่อย ๆ ถูกเคาะกะลาให้แตก" ชิวาว่ากล่าว

นักเรียน ตอ. พร้อมใจเปิดไฟฉายจากสมาร์ทโฟนในระหว่างร่วมแฟลชม็อบ "โรงเรียนไล่ยุง แต่เราจะไล่เผด็จการ" เมื่อ 24 ก.ค.

ขณะที่จิงโจ้ใช้ชีวิตในบ้านที่มี "ข้อมูลชุดเดียว" เพราะสมาชิกในครอบครัวทั้งปู่ ย่า ป้า พ่อ แม่ พร้อมใจกันเปิดโทรทัศน์แช่ไว้ที่ช่องบลูสกายทีวี และเนชั่นทีวี

"การเมืองไม่ใช่เรื่องที่เราสนใจแต่แรก สิ่งที่ได้ยินมันเหมือนกับข้อมูลฝั่ง กปปส. คือสีขาว ข้อมูลฝั่งเสื้อแดงคือสีดำ เราโตมาด้วยชุดข้อมูลแบบนั้น ต่อมาเริ่มได้ยินคนพูดถึงความไม่ถูกต้องจากการชัตดาวน์ (กปปส. เปิดปฏิบัติการ "ปิดกรุงเทพฯ" เมื่อเดือน ม.ค. 2557) ก็รู้สึกว่าที่เคยรู้มาอาจไม่ถูก แต่เขาก็พยายามบอกเราตลอดว่าอย่าไปเข้ากับฝั่งโน้นนะ" จิงโจ้กล่าว

จากผู้ไม่สนใจการเมือง เยาวชนรายนี้ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ หลังประเด็นที่ให้ความสำคัญและต้องการผลักดันต้องพบกับทางตัน ทั้งสิทธิการศึกษา หรือสิทธิของบุคคลที่ถูกสังคมกดทับ ช่วงนั้นเองที่จิงโจ้ตระหนักว่า "ทุกปัญหาสังคม สุดท้ายต้องจบที่การเมือง" จึงหันมาเสพข้อมูลข่าวสารทางการเมืองแล้วค่อย ๆ รู้สึกเหมือน "ถูกกะเทาะเปลือกออกมา"

ใช้ทวิตเตอร์ขยายเพดานความรู้

แม้เป็นนักเรียนระดับ "หัวกะทิ" แต่สิ่งที่ช่วยกล่อมเกลาความคิดทางการเมืองของแกนนำกลุ่มเกียมอุดมฯ หาได้อยู่ใน "โลกของการศึกษาไทย" ไม่ แต่เป็นชุดข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ใน "โลกเสมือนจริง" โดยเฉพาะในแอปพลิเคชันทวิตเตอร์ โลกที่ปราศจากสายตาจับจ้องของผู้ใหญ่ ทำให้พวกเขามีเสรีภาพในการคิด อ่าน แสดงความคิดเห็น อีกทั้งยังมี "เพดานความรู้" ที่ลึกและกว้างกว่าตำรากระแสหลักและสื่อกระแสหลัก

ชิวาว่าเล่าว่า ได้ยินแม่จับกลุ่ม "ด่าทักษิณ" ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งถูกกลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมขับไล่ ก่อนพ้นจากอำนาจไปด้วยรัฐประหารปี 2549 กับผู้ปกครองของเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนบ่อยครั้ง สิ่งที่เด็กประถมฯ อย่างเธอเข้าใจคือ "คนโกงคือคนไม่ดี" แต่เมื่อเวลาผ่านไป จึงรู้ว่าไม่ใช่ทุกปัญหาที่เกิดจากทักษิณ และเมื่อได้อ่านได้ดูคลิปวิดีโอเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ทำให้รู้ว่ามีประวัติศาสตร์บางส่วนที่ไม่ถูกพูดในหนังสือเรียน รู้ว่ารัฐพยายามปกปิดอะไรเอาไว้ และรู้ว่าเรื่องการเมืองไม่ควรเชื่อตามกันเพียงเพราะเขาเป็นสมาชิกในครอบครัว

เธอเริ่มนำ "คำสำคัญ" จากบทสนทนาของคนในบ้านไปสืบค้นในอินเทอร์เน็ต จนพบ "ข้อมูลใหม่" ที่หักล้างคำอธิบายเดิม ๆ "ที่สุดมันเกิดกระบวนการคิดขึ้นมาได้ว่าการเมืองไม่ได้เป็นตามที่แม่พูดแล้วนะ เราควรเรียนรู้ด้วยตัวเอง" และ "เราไม่ควรเป็นเพียงผู้นั่งดู แต่ต้องทำอะไรสักอย่าง"

การจุดแฟลชม็อบครั้งแรกใน ตอ. เกิดขึ้นในเวลา 6 วันหลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีฐานเสียงหลักอยู่ที่คนรุ่นใหม่

จากเคยส่งเสียงเล็ก ๆ อยู่ใน "ทวิตภพ" ปรากฏการณ์แฟลชม็อบนักศึกษาในช่วงต้นปี 2563 ได้ปลุกสำนึกทางการเมืองและสร้างแรงบันดาลใจแก่นักเรียน ม.ปลายกลุ่มหนึ่งให้ลุกขึ้นมาจัด "แฟลชม็อบขาสั้น-กระโปรงบาน" ครั้งแรกเมื่อ 27 ก.พ. ในรั้ว ตอ. หวังขยายพื้นที่การเมืองจากระดับชาติ ระดับนักศึกษา มาสู่ระดับนักเรียน

"การเมืองเป็นเรื่องของทุกวัย แม้ผู้ใหญ่คอยบอกว่าเป็นเด็กไม่ควรยุ่ง รอให้โตก่อน แต่ส่วนตัวไม่เคยเชื่อเลย เพราะผู้ใหญ่ไม่ใช่หรือที่พาเด็กพาคนในครอบครัวไปชุมนุม จึงไม่มีสิทธิมาห้ามเด็กไม่ให้ยุ่งกับการเมือง" แกนนำเกียมอุดมฯ ผู้มีประสบการณ์ถูกลากไปชุมนุมไล่ "ระบอบทักษิณ" ก่อนรัฐประหารปี 2557 ระบุ

อนาคตที่เป็นได้แค่ความฝัน

ในทัศนะของสมาชิกกลุ่มเกียมอุดมฯ การเมืองไม่ใช่เรื่องของคนที่อยู่ในโครงสร้างสังคมระดับบนเท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับทุกคน และการเมืองกับการศึกษาก็เป็นเรื่องเดียวกัน จึงไม่มีเหตุผลให้แยกเยาวชนออกจากการเมือง

ชิวาว่าใฝ่ฝันจะศึกษาต่อในสาขาออกแบบ แต่เธอพบว่าคณะออกแบบมีระบบอาวุโส หรือที่เรียกกันว่าโซตัสเข้มข้น อีกทั้งเสรีภาพในการแสดงออกในไทยก็ค่อนข้างต่ำ กลายเป็นข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

จิงโจ้ผู้หลงใหลในดาราศาสตร์และสนใจปรัชญาและจิตวิทยา ต้องเบนเข็มไปเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ หลังพ่อติงว่าบ้านเราไม่มีตลาดอาชีพรองรับศาสตร์แห่งดาวตามที่เยาวชนรายนี้สนใจ

เช่นเดียวกับคอร์กี้ที่ยื่นเข้าเรียนสาขารัฐศาสตร์ ทั้งที่รู้ว่าการสนับสนุนจากภาครัฐยังไม่มากพอทั้งในเชิงวิชาการและค่าตอบแทน บ่อยครั้งเธอสงสัยว่า "ทำไมต้องเลือกระหว่างสิ่งที่รักและอยากทำ กับคุณภาพชีวิต"

ภายใต้โครงสร้างสังคมการเมืองแบบปัจจุบัน อนาคตที่เธอและเขาวาดหวังไว้เป็นแค่ความฝัน และเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กเกียมฯ ต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงถึงผู้ใหญ่

เกียม

เผยเบื้องหลังการ "ออกม็อบ" แบบเกียม ๆ

ในการ "ออกม็อบแบบเกียม ๆ" ได้ผสมผสานอย่างน้อย 3 กิจกรรมในเวลาไม่ถึง 1 ชม. ที่จัดการชุมนุม โดย 3 ผู้ก่อการช่วยกันอธิบายความหมายไว้ ดังนี้

  • ยืนนิ่ง ๆ: ในแฟลชม็อบต้นปี สื่อถึงการไว้อาลัยอนาคต-คนรุ่นใหม่-ประชาธิปไตย ในแฟลชม็อบรอบล่าสุด สื่อถึงความรู้สึกสิ้นหวัง จนคำพูด เลยได้แต่ยืนนิ่ง ๆ หรือแสดงออกเชิงสัพยอกล้ออำนาจรัฐและความกลัวที่เจ้าหน้าที่รัฐมีต่อการประท้วง "ทำไมล่ะ เราแค่ออกมายืนนิ่ง ๆ ยังจะห้ามเราอีกหรือ จะส่งคนมาเก็บประวัติเราหรือ"
  • ร้อง-เต้นเพลงสันทนาการ: ได้รับอิทธิพลจากกลุ่ม "เสรีเทย พลัส" ซึ่งทางกลุ่มมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์และมีพลังในการดึงคนเข้าร่วม "เพลงมันช่วยเรียกแขกได้ และเรายังสามารถพูดปัญหาผ่านเพลงที่ทุกคนคุ้นเคยและร้องได้ เราแค่ไปยืมมันมาแล้วเอามาพลิกความหมายให้เข้ากับตัวม็อบ กลายเป็นเพลงแจวเรือตามหาประชาธิปไตย"
  • แสดงจุดยืนผ่านคำปราศรัย หรือเขียนข้อความบนกระดาษเอสี่/ไอโฟน/ไอแพด: มุ่งสื่อสารกับผู้ใหญ่โดยตรง จึงยกคำพูดของผู้ใหญ่ที่พร่ำบอกเด็กมาสื่อสารในด้านกลับ

พลิกข้อกฎหมาย ก่อนปะทะ 4 อำนาจ

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการจัดแฟลชม็อบใน "โรงเรียนมัธยมแถวหน้าของประเทศ" ที่มาอายุกว่า 8 ทศวรรษ ทำให้แกนนำต้องปะทะกับอำนาจฝ่ายต่าง ๆ ทั้งรัฐ โรงเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงเพื่อนนักเรียน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวของนักเรียนเกียมฯ

"เอาจริง ๆ คือเราไม่ได้คุยกับโรงเรียนเลยนะ ใช้อำนาจนักเรียนโดยพลการเลย" คอร์กี้บอกพร้อมเสียงหัวเราะเบา ๆ

"แต่ก็มีเสียงกระซิบจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านมาทางรุ่นพี่ที่จบแล้วว่าให้หลีกเลี่ยงการเขียนป้ายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบัน ในฐานะผู้จัดก็ต้องคอยระวังและช่วยเตือนผ่านช่องทางต่าง ๆ" คอร์กี้ระบุ

นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยรุ่นเยาว์ยอมรับว่า โรงเรียนให้พื้นที่และให้อิสระแก่นักเรียนในการทำกิจกรรมในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเพราะ ตอ. เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนกว่า 3 พันคน จึงเป็นที่จับจ้องของสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป แต่ถึงกระนั้นในวันนัดหมายจัดแฟลชม็อบก็มักมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบแวะมาประจำการอยู่ตามใต้ตึก ทำให้แกนนำกลุ่มเกียมอุดมฯ บางราย "แอบสั่นนิดนึง"

รร.เตรียมอุดม

ก่อนสร้าง "ประสบการณ์ใหม่" ร่วมกันในฐานะผู้จัดการชุมนุม นักเรียนเกียมฯ ช่วยกันพลิกข้อกฎหมาย ทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.การรักษาความสะอาด มาตรวจสอบว่ากิจกรรมที่จะจัดเข้าข่ายฐานความผิดใดหรือไม่ และทำให้พวกเขาไม่ยกพลลงสู่ท้องถนน

"การป้องกันตัวเองจากรัฐ เป็นจุดเริ่มต้นให้เราต้องจัดประท้วงภายในโรงเรียน เพราะเป็นสถานที่ราชการ ไม่ใช่ที่สาธารณะ ในความเป็นนักเรียนทำให้เรามีพื้นที่ตรงนี้อยู่ ขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่มี จึงมีความเสี่ยงต่อการถูกตั้งข้อหาต่าง ๆ" คอร์กี้เผย

พ่อแม่ = "ปฏิปักษ์ทางความคิด" ของเยาวชน?

ส่วนการบริหารความสัมพันธ์กับผู้ปกครอง ผู้จัดแฟลชม็อบรุ่นเยาว์ช่วยกันปกปิดตัวตนและปกป้องผู้เข้าร่วมชุมนุม เพราะไม่ต้องการให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์กลับบ้านไปแล้วถูกพ่อแม่ต่อว่าหรือสอบถามว่าไปชุมนุมมาหรือ

26 ก.ค. กลุ่มเกียมอุดมฯ ออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการถ่ายภาพที่เปิดเผยตัวตนของผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชน โดยให้เหตผลว่าอาจสร้างความเสี่ยงจากกลุ่มบุคคลอื่นนอกเหนือจากรัฐให้แก่ผู้ชุมนุมมากขึ้นโดยไม่จำเป็น พร้อมระบุที่มาของความเสี่ยงส่วนหนึ่งว่าเกิดจากผู้ปกครอง, สถานศึกษา และบุคคลภายนอก

"ผู้ปกครอง ซึ่งเยาวชนต้องพึ่งพาเพื่อปัจจัยในการดำเนินชีวิต เช่น เงิน อาหาร ที่อยู่อาศัย และปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินชีวิตอื่น ๆ ซึ่งผู้ปกครองอาจมีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกับเยาวชน และอาจทำให้เยาวชนเหล่านั้นถูกปิดกั้นเสรีภาพ" แถลงการณ์กลุ่มเกียมอุดมฯ ระบุตอนหนึ่ง

คู่มือ

แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวเรียกเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่ผู้ใหญ่สายอนุรักษนิยมที่ตั้งคำถามว่าเหตุใดเด็ก ๆ ถึงมองพ่อแม่เป็น "ปฏิปักษ์ทางความคิด" ไปได้

แกนนำกลุ่มเกียมอุดมฯ รับทราบคำวิจารณ์ที่ถาโถมเข้าใส่ แต่ขออธิบายความจากมุมของพวกเขาว่าแถลงการณ์ที่ออกมามุ่งปกป้องผู้ร่วมชุมนุมเป็นหลัก และคิดว่าเป็นเรื่องดีแล้วที่สังคมจะมองเห็นว่าสถาบันครอบครัวเป็นปฏิปักษ์ได้ นอกจากมองมุมความกตัญญูรู้คุณ ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับอำนาจนิยมในสถาบันที่เล็กที่สุดของสังคม เพราะเด็กต้องอยู่กับครอบครัวตั้งแต่เล็กจนโต ต้องพึ่งพาครอบครัว

"มันมีหลายกรณีที่แสดงให้เห็นว่าเด็กถูกไล่ออกจากบ้าน ถูกทำร้ายร่างกายจนต้องไปขอความช่วยเหลือจากคนนอกหรือโซเชียล แนวคิดที่ว่าครอบครัวเป็นสถานที่ปลอดภัยของทุกคน มันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวที่เฮล์ทตี้ (สมาชิกในครอบครัวมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน) ยอมรับให้ลูกแสดงความเห็นทางการเมืองของตัวเองได้" ชิวาว่ากล่าว

อย่างเด็กสาวรายนี้ แม้มีแรงหนุนจากพ่อ แต่แม่ไม่ต้องการให้เธอเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง เมื่อเธอลองหยั่งเชิง-เล่าให้ฟังว่าไปร่วมชุมนุมเมื่อต้นปี ก็ได้รับคำต่อว่าชุดใหญ่ในทำนอง "ทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง" หลังจากนั้นเธองดพูด และถึงทุกวันนี้แม่ก็ยังไม่รู้ว่าลูกเป็นแกนนำ

ความเสี่ยงสูงสุดของการเป็นแกนนำ

ปรากฏการณ์แฟลชม็อบเยาวชนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศได้เผยโฉมหน้าของผู้ใหญ่ 2 จำพวก มีทั้ง "ผู้ใหญ่โหนเด็ก" คอยหนุนส่งทุกความเคลื่อนไหวและไม่ลืมหยิบฉวยไปใช้เป็นแต้มต่อทางการเมือง กับ "ผู้ใหญ่ห้ามเด็ก" จงใจแฝงคำข่มขู่มาในนามของความห่วงใย เช่น "เรียนจบไป ระวังไม่มีงานทำ" หรือ "ระวังมือที่สาม" น่าสนใจว่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองชั้นมัธยมประเมินความเสี่ยงในการก่อม็อบไว้อย่างไร

สมาชิกกลุ่มเกียมอุดมฯ 2 คนบอกว่า "รับไม่ได้" หากถูกขุดคุ้ยและประจานในพื้นที่สาธารณะ ชิวาว่ากังวลกับถูก "ล่าแม่มด" ในโลกโซเชียล ส่วนจิงโจ้เชื่อว่าผู้บริหารโรงเรียนรู้แล้วว่าใครเป็นแกนนำ แต่ยังไม่ได้ทำอะไร หากแค่นั้นพอรับได้ แต่คงรับไม่ไหวหากมีการเปิดเผยตัวตนกับโลกภายนอกซึ่งอาจทำให้ได้รับอันตราย

ขณะที่คอร์กี้ "มีความกลัว แต่ไม่เป็นรูปร่าง" เพราะยังไม่เคยนึกถึงความเสี่ยงอย่างจริงจัง หากไม่ไหวก็คงรู้ตัวแล้วหยุดไปเอง

"ตัวร้าย" ในประวัติศาสตร์

นอกจากนักเรียนกลุ่มหนึ่งใน ตอ. ยังมีเด็กมัธยมอีกหลายโรงเรียนจัด "แฟลชม็อบ" ภาค 2 อาทิ รร.นวมินทราชินูทิศหอวัง จ.นนทบุรี, รร.ศึกษานารี กทม., รร.หาดใหญ่วิทยาลัย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งถือเป็น "ปรากฏการณ์ใหม่" ที่เกิดขึ้นในรอบ 40 ปี นับจากเคยมี "ขบวนการปฏิวัติเด็ก" เข้าร่วมกับนักศึกษา 14 ตุลา 2516

"วลีร่วมสมัย" ของผู้ร่วมชุมนุมที่ปรากฏทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

ในบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ชาวเกียมอุดมฯ คาดหวังว่าการปรากฏตัวของพวกเขาจะทำให้สังคมไทยรู้ว่าเยาวชนก็มีสิทธิเสียง และควรให้พื้นที่แก่เยาวชนแม้มีอายุน้อยกว่า เพราะปัญหาที่เยาวชนต้องเจอก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยหากเทียบกับปัญหาของผู้ใหญ่

"ไม่ว่าเด็กประถมหรือมัธยมก็มีสิทธิที่จะได้รับการรับฟัง ถ้าตอนคุณเป็นเด็ก ไม่มีใครฟังคุณเลย พอโตเป็นผู้ใหญ่ คุณย่อมไม่เห็นความสำคัญของสิทธิเสียงที่คุณมี" และ "เราไม่รู้ว่าเราจะชนะไหม แต่ถ้าเผด็จการยังอยู่ กลุ่มแกนนำในวันนี้อาจกลายเป็น 'ตัวร้าย' ในหนังสือเรียนก็ได้ เราไม่ได้อยากเป็นตัวร้าย เราอยากแสดงออกทางการเมืองให้เป็นไปได้มากที่สุดภายใต้รัฐที่กดทับเรา" ชิวาว่าบอก

ส่วนจิงโจ้แอบหวังว่าการเป็น "ตัวร้าย" ในตำราเรียน จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ช่วยกะเทาะเปลือกของคนรุ่นถัดไป เหมือนอย่างที่พวกเขาเคยถูกกะเทาะมาก่อน "หากสับสนกับข้อมูลที่ได้รับว่าควรคิดอย่างนั้นต่อไหม เชื่อถือได้ไหม ก็อยากให้สิ่งที่เราทำในวันนี้ ช่วยกะเทาะความคิดเขาออกมา"

เช่นเดียวกับคอร์กี้ที่วาดหวังจะเห็นการประท้วงของนักเรียนมัธยมกลายเป็นขั้นหนึ่งที่พาทุกคนไปสู่สังคมในแบบที่ต้องการ ไม่อยากเห็นการประท้วงครั้งนี้เป็นเพียงการต่อสู้ หรือความพยายามอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นแล้วล้มหายตายจากไปแบบที่ผ่านมา

"ไม่ใช่การต่อสู้ที่ผิดพลาดไม่มีค่านะ มี แต่ไม่อยากผิดหวังแล้วค่ะ" คอร์กี้กล่าวทิ้งท้าย

Let's block ads! (Why?)


August 11, 2020 at 09:18AM
https://ift.tt/31II8iY

แฟลชม็อบ: “เกียมอุดมฯ” กับปรากฏการณ์ “กะลาแตก” ของเด็กหัวกะทิ - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2ZXuIAi
Home To Blog

No comments:

Post a Comment